ผู้สมัครงาน
พาคุณไปเตรียมพร้อมรับมือเรื่องราวโกงๆ ที่บรรดาโจรไซเบอร์อาจใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่มีช่องโหว่เข้าถึงข้อมูลและทรัพย์สินของคุณ…
ช่วงส่งท้ายปีเก่า ย่างเข้าปีใหม่ทีไร เป็นอันรู้กันว่าคนส่วนใหญ่ต้องการติดตามเทรนด์ต่างๆ ทั้งของอินเทรนด์และหลุดเทรนด์ เราเลยได้เห็นข่าวคราวการอัพเดทในแวดวงต่างๆ อยู่เสมอ แต่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ... เรื่องราวของภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและอยู่ใกล้ตัวมนุษย์ยุคดิจิตอลอย่างเราๆ กลับถูกมองข้าม หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
"ไทยรัฐออนไลน์" ขอใช้โอกาสที่เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่กี่วันนี้ รวบรวมภัยคุกคามใกล้ตัวที่คุณควรตระหนักและระมัดระวังให้มากขึ้น ถือเป็นการสอดส่องเทรนด์การคุกคามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของบรรดาโจรไซเบอร์ทั้งหลาย ว่าในปี 2015 นี้ อะไรที่อาจกลายเป็นช่องโหว่ หรือช่องทางฉกฉวยประโยชน์ซึ่งอาชญากรกำลังเล็งเป้ามาที่คุณ...!
แค่คุณใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจตกเป็นเหยื่ออาชญากรได้!
เริ่มจาก แคสเปอร์สกี้ แลป ผู้ให้บริการโซลูชั่นเพื่อการปกป้องคอมพิวเตอร์สำหรับองค์กร ซึ่งคาดการณ์ว่า... "จากที่เคยเน้นโจมตีผู้ใช้ธนาคารออนไลน์ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของการรักษาความปลอดภัย อาชญากรไซเบอร์มีความมั่นใจมากขึ้น และกำลังจะพุ่งไปยังธนาคารโดยตรง"
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าการโจมตีหรือคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่อาจเกิดขึ้นในรอบปีนี้ โดยเฉพาะที่มุ่งเป้าไปยังการโจรกรรมการเงินจะมาในรูปแบบและช่องทางอื่นๆ ว่าแต่ลีลาโจรออนไลน์จะเป็นอย่างไรอีกบ้าง... แคสเปอร์สกี้ แลป คาดการณ์เอาไว้อีก 7 รูปแบบ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมาก ว่ารูปแบบภัยคุกคามนั้นจะพุ่งตรงไปยังประเด็นการรักษาความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จากความประมาทและช่องโหว่ในการใช้งานดีไวซ์ใกล้ตัวอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่แล้วนั่นเอง
สำหรับภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่ แคสเปอร์สกี้ แลป คาดการณ์เอาไว้ ได้แก่...
1. การโจมตีระบบจ่ายเงินเวอร์ชวล ซึ่งอาจขยายผลไปยังระบบ Apple Pay แบบใหม่
2. การโจมตีตู้เอทีเอ็มโดยตรง
3. เหตุการณ์มัลแวร์รุกล้ำความปลอดภัยธนาคาร โดยใช้วิธีโจมตีไซเบอร์โดยตรง
4. ช่องโหว่ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พบช่องโหว่อันตรายในโค้ดเก่าซุ่มโจมตีโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต
5. การโจมตีผ่านเครื่องพรินเตอร์ในเครือข่ายและดีไวซ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย ซึ่งจะเปิดช่องทางให้แฮกเกอร์ขั้นสูงซุ่มอยู่ในเครือข่ายองค์กรได้นานยิ่งขึ้น
6. ซอฟต์แวร์มุ่งร้ายที่ออกแบบเพื่อระบบ OSX จะฝังตัวในซอฟต์แวร์เถื่อนและการดาวน์โหลดทอร์เร็นต์
7. การโจมตีโดยแฮกเกอร์รายใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นหน่วยย่อยๆ ทำงานแยกจาการเป็นอิสระ ซึ่งจะทำให้เกิดการโจมตีในวงกว้างยิ่งขึ้น
ตู้ ATM กลายเป็นเป้าหมายของโจรยุคไฮเทค
"การโจมตีตู้กดเงินสดหรือเอทีเอ็มจะเริ่มระบาดในปีนี้ หน่วยงานรักษากฎหมายต่างๆ จะเร่งดำเนินการเพื่อรับมือวิกฤตินี้ ด้วยระบบธนาคารส่วนมากยังใช้ Windows XP และมีปัญหาความปลอดภัยด้านฟิสิกคอล จึงกลายเป็นจุดเปราะบางของระบบ" อเล็กซานเดอร์ กอสเตฟ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของ GReAT แคสเปอร์สกี้ แลป กล่าว และว่า "ในปี 2015 เราอาจเห็นการโจมตีตู้เอทีเอ็มโดยใช้เทคนิคเจาะเข้าไปยังสมองของตู้กดเงินโดยตรง ขั้นต่อไปแฮกเกอร์อาจเข้าไปก่อกวนเครือข่ายของธนาคารและบงการตู้เอทีเอ็มได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ อาชญากรไซเบอร์จะพยายามเสาะหาช่องทางเข้าระบบการจ่ายเงิน ซึ่งอาจขยายผลไปยังระบบ Apple Pay ที่ใช้เทคโนโลยี NFC (Near Field Communications) ในการจัดการธุรกรรมแบบไร้สาย รวมถึงระบบเวอร์ชวลวอลเล็ตและระบบจ่ายเงินเวอร์ชวลอื่นๆ ล่อตาล่อใจโจรไซเบอร์อย่างเลี่ยงไม่ได้"
เช่นเดียวกับ ฟอร์ติเน็ต อีกหนึ่งผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยเครือข่าย ที่คาดการณ์เทรนด์ภัยคุกคามปี 2015 เอาไว้ 4 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งว่ากันว่าจะมีการสูญเสียรายได้ และชื่อเสียงองค์กร แฮกเกอร์แบลค์แฮทจะซับซ้อนมากขึ้น...!
ข้อมูลสำคัญ คือสิ่งที่ต้องระวังจากอาชญากร
1. มัลแวร์ประเภท Blastware จะทำลายระบบ ลบข้อมูล และปกปิดรอยการแฮก โดยหลังจากทำการแฮกแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ระบบก็จะทำลายตัวเองและลบข้อมูลทั้งหมดบนฮาร์ดไดร์ฟทันที อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่านักพัฒนาภัยคุกคามสมัยใหม่จะพยายามสร้างกลไกที่มีคุณสมบัติทำลายตัวเองที่มีความซับซ้อนขึ้น เพื่อหาและทำลายสิ่งที่เป็นกฏการบังคับใช้ด้านความปลอดภัยเครือข่ายต่างๆ
2. หาช่องทางเลี่ยงกฏหมายและสร้างกลลวงให้หลงทาง... เพราะอาชญากรรมบนไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการออกกฏบังคับใช้และลงโทษผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นด้วย เหล่าแฮกเกอร์จึงระมัดระวังตนและหาทางหลบเลี่ยงการโดนจับกุมมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าแฮกเกอร์จะตอบโต้ด้วยการสร้างกลลวง ขัดขวางการสืบสวนและจงใจสร้างหลักฐานลวงที่ชี้ไปที่ผู้โจมตีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์จะกลายเป็นอินเทอร์เน็ตออฟเทร็ดส์ (Internet of Threats: IoT) จากการที่แฮกเกอร์ Black Hat พยายามรุกรานอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things: IOT) มากขึ้น ซึ่งมุ่งโจมตีอุปกรณ์ที่มีระบบอัตโนมัติภายในครัวเรือน ระบบความปลอดภัยของครัวเรือน รวมทั้งเว็ปแคมต่างๆ และความพยายามทีจะมุ่งไปยังเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูล หรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญขององค์กรธุรกิจ จึงอาจทำให้อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์จะกลายเป็นอินเทอร์เน็ตออฟเทร็ดส์ไปได้
4. ปัญหาการปฏิเสธการให้บริการและข้อมูลรั่วไหล... แม้ว่าในปีที่ผ่านมานี้จะถือเป็นปีแห่งข้อมูลรั่วไหล จากหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น ฟอร์ติการ์ตแล็ปส์ก็ยังคาดการณ์ว่าเทรนด์ภัยคุกคามดังกล่าวก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยแฮกเกอร์จะยิ่งมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ส่องหาความบันเทิงจากโลกออนไลน์ และอย่าลืมมองหาความปลอดภัยด้วย
นอกจากเรื่องภัยคุกคามที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบบความปลอดภัยได้ออกมาคาดการณ์แล้ว... คุณควรระวังภัยใกล้ตัว อาทิ การดาวน์โหลดลิงก์ แอพพลิเคชั่น หรือข้อความที่ไม่น่าไว้ใจ รวมถึงอย่าปล่อยให้โปรแกรมใดๆ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวคุณได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็น เพราะเรื่องที่กล่าวมานี้ สามารถสร้างความเสียหายต่อคุณได้ทั้งข้อมูลและทรัพย์สิน ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะเป็นห่วงผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งเป็นระบบเปิด แต่ปีนี้... ระบบปิดอย่างไอโอเอสก็ไม่ควรละเลย เพราะในปีที่ผ่านมาเคยมีข่าวลือว่าไอโอเอสก็ถูกแฮกเกอร์มือดีพยายามเจาะระบบมาแล้ว ซึ่งไม่แน่ว่าในปีนี้... อาจเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีกก็ได้ ดังนั้น คุณควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าทุกระบบปฏิบัติการนั้นมีความเสี่ยง...!
แค่ยอมรับความเสี่ยงที่คุณอาจตกเป็นเป้าหมาย หรือกระทั่งเป็นเหยื่อ! ให้อาชญากรไซเบอร์ยุคใหม่ นั่นก็ยังไม่พอ เพราะทุกสิ่งนั้นมีที่มา คุณมีพฤติกรรมอย่างไร ใช้งานอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างไร หรือแม้แต่...คุณมีช่องโหว่อยู่ตรงไหน?
คำแนะนำจากเราก็คือ... ใช้งานระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตด้วยความใส่ใจ ระมัดระวังข้อมูลสำคัญเป็นอย่างดี อะไรที่เป็นความลับก็จงปล่อยให้มันเป็นความลับ อย่ายอมให้ผู้อื่นล่วงรู้โดยง่าย อ่อ อย่าเห็นไวไฟฟรีเป็นของแถมที่คุณต้องกระโจนเข้าใส่ หากไม่รู้ที่ไปที่มาก็อย่าวางใจ และที่สำคัญ...อย่าลืมเสาะหาตัวช่วยด้านความปลอดภัยมาใช้งานซะบ้าง! คล้ายกับตอนที่คุณพยายามไขว่คว้าหาความบันเทิงจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่ถูกลิขสิทธิ์และผิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ นั่นแหละ ยิ่งดี...!
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved